หลายๆ คนมีความฝันว่าอยากมีบ้านเป็นของตนเอง เพราะบ้านคือสิ่งที่รับรองความมั่นคงของชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความอุ่นใจ เราจะไปไหนมาไหนกี่โมงก็ได้ตราบใดที่เรามีบ้านให้กลับ และในปัจจุบันหลายคนนิยมซื้อบ้านกันมากกว่าการสร้างบ้านเอง เพราะประหยัดเวลาและงบประมาณหลายส่วน ซึ่งการซื้อบ้านนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและใหญ่มาก โดยเฉพาะเรื่องเงิน หากเลือกซื้อบ้านที่ไม่ดีพอ จะทำให้ทั้งเสียเงินก้อนโตและจมอยู่กับความไม่สบายใจที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้นไปอีกนาน ดังนั้นสำหรับมือใหม่ที่ต้องการซื้อบ้าน มาดูสิ่งที่ควรรู้ก่อนซื้อบ้านกันเลย
1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการซื้อ
บ้านในปัจจุบันมีรูปแบบให้เลือกซื้อเยอะ หลายทำเล และหลายระดับราคา ถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แนะนำให้เริ่มจากการเลือกจากวัตถุประสงค์ที่ทำให้ต้องการซื้อบ้านหลังนี้ เช่น เลือกซื้อเพื่ออยู่เอง, เลือกซื้อให้พ่อแม่, เลือกซื้อไว้ปล่อยเช่า เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการเลือกซื้อบ้านแต่ละแบบก็จะมีวิธีการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าใครเลือกลงทุนซื้อบ้านเพื่อขายเก็งกำไรหรือปล่อยเช่าในอนาคตด้วย ก็จำเป็นที่จะต้องคิดเผื่อในด้านความต้องการของตลาดว่า บ้านแบบไหนจึงจะสามารถขายต่อหรือปล่อยเช่าได้ดี หรือเลือกทำเลที่มีศักยภาพในการปล่อยเช่าเป็นพิเศษมากกว่าคนที่เลือกซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัยอย่างเดียว เป็นต้น
2. คำนวณงบประมาณ
หลังจากที่รู้วัตถุประสงค์ของตนเองแล้ว ก็ต้องมาคิดให้ดีในเรื่องของงบประมาณว่าจะจัดสรรอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคต การเตรียมความพร้อมในเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะช่วยทำให้คุณสามารถคำนวณเงินที่จะสามารถใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างเหมาะสมและไม่เกินตัวจนเกินไป ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
2.1 ประเมินค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อนำมาใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้อยู่ในระดับที่รายได้และเงินออมของเราครอบคลุมหรือไม่ ถ้าหากขาดเหลือมากจนเกินไป บ้านที่เราหมายตาไว้อาจจะต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้น หรือลดราคาบ้านที่จะซื้อให้ถูกลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินตัวออกไป
2.2 ประเมินเรื่องรายได้ของตนเอง รายได้นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาความสามารถด้านการกู้สินเชื่อบ้าน ถ้าหากคุณประมาณรายได้ของตนเองมาอย่างรอบคอบว่าจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ช่วงราคาที่เท่าไหร่ก็จะทำให้การกู้ซื้อผ่านกับทางธนาคารผ่านได้ง่ายขึ้น โดยสัดส่วนที่เหมาะสมของภาระหนี้ทั้งหมด รวมถึงภาระหนี้สำหรับการกู้บ้านจะต้องไม่เกิน 30% – 40% ของรายได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการซื้อบ้านในราคา 2 ล้านบาท คุณก็จะต้องผ่อนบ้านเดือนละประมาณ 14,000 บาท แต่ถ้าหากคุณมีเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาทการกู้ซื้อบ้านในราคา 2 ล้านบาทจะทำให้คุณมีภาระหนี้ในการผ่อนบ้านเกินกว่า 40% ของจำนวนรายได้ จึงควรลดราคาบ้านที่ต้องการซื้อให้ต่ำกว่านี้ หรือหาวิธีการสร้างรายได้เพิ่มเติมและขยันเก็บเงินให้มากขึ้น เป็นต้น
2.3 ประเมินแผนการเก็บเงิน เช่น ในปัจจุบันคุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วคุณจะมีเงินเก็บอยู่ที่เดือนละ 10,000 บาท คุณตั้งเป้าหมายที่จะซื้อบ้านในราคา 5 ล้านบาท แต่คุณเลือกใช้วิธีการออมเงินด้วยการฝากประจำที่ให้ผลตอบแทนปีละ 2% นั่นเท่ากับว่า คุณจะต้องออมเงินเป็นเวลากว่า 40 ปีกว่าจะได้บ้านหลังแรกมาครอบครอง นั่นหมายความว่า แผนการออมเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันของคุณยังไม่เหมาะสมกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น คุณจึงควรปรับสัดส่วนการออมใหม่ โดยเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่อปีที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น, กองทุน ฯลฯ ก็จะทำให้คุณสามารถออมเงินเพื่อซื้อบ้านในฝันได้ในจำนวนเงินที่มากขึ้นด้วย
3. เลือกทำเล และ รูปแบบบ้าน ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตนเองและสมาชิกในครอบครัว
การที่จะรู้ว่าทำเลไหนคือคำตอบที่ใช่นั้น คือการสังเกตว่าคุณและสมาชิกในครอบครัวมีรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร ชอบดื่ม กิน เที่ยวในที่แบบไหน หรือต้องเดินทางไปไหนเป็นประจำบ้าง ที่สำคัญต้องเอื้อต่อการเดินทางไปที่ทำงานด้วย หลังจากนั้นให้หยิบตัวเลือกของทำเลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบที่ต้องการขึ้นมา บวกกับดูวัตถุประสงค์และงบประมาณในกระเป๋าด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ให้พิจารณาต่อว่า มีโครงการบ้านที่ไหน มีรูปแบบอย่างไรบ้างที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณเพิ่มเติมได้มากที่สุด
4. ศึกษาวิธีการกู้ซื้อบ้านที่ทำได้ง่ายและผ่านฉลุย
4.2 เก็บออมเงินดาวน์ เราควรที่จะเก็บออมเงินเป็นค่าดาวน์บ้านหรือคอนโดมิเนียมไว้ด้วย เพราะธนาคารมีกฎคือปล่อยสินเชื่อกู้บ้านได้สูงสุด 90% ของราคาบ้าน เช่น ราคาบ้าน 1 ล้านบาท ธนาคารจะให้กู้มากที่สุด 9 แสนบาท อีก 1 แสนบาทจึงเป็นเงินสดที่เราจะต้องจ่ายโดยตรงให้กับผู้พัฒนาโครงการเอง ดังนั้น โครงการจัดสรรต่างๆ จะมีโปรแกรมให้เราผ่อนดาวน์เป็นรายเดือนกับโครงการในระหว่างที่โครงการยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง (ธนาคารจะปล่อยกู้เมื่อที่อยู่อาศัยนั้นสร้างเสร็จแล้ว) โดยทั่วไปจะเก็บเงินดาวน์ที่ 10-20% ของราคา
4.3 เดินบัญชีธนาคารให้สวย ธนาคารจะขอดูบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน ซึ่งทำให้ในช่วง 6 เดือนนี้ควรจะมีเงินคงไว้ในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรถอนออกหมด และถ้าหากมีรายได้เสริมประจำเดือน หรือทำอาชีพฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า ที่ได้รับเงินเป็นรายครั้ง/รายวัน ก็ควรจะโอนเข้าในบัญชีอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
4.4 ชำระหนี้ให้ตรงเวลา อีกข้อที่ธนาคารจะตรวจสอบคือ เครดิตบูโร ซึ่งจะมีประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้ย้อนหลัง 2 ปี ใน 2 ปีนี้ถ้าหากมีการชำระหนี้ไม่ตรงเวลา หรือที่มักเรียกกันติดปากว่าติด “แบล็กลิสต์” ซึ่งเป็นคำนิยามของ “ผู้ที่มีประวัติในการผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ตามข้อตกลง” ถือว่าเป็นผู้กู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย ดังนั้น หากมีการกู้ซื้อสินค้าใดๆ หรือการชำระค่าบัตรเครดิต ก็ควรต้องจ่ายให้ตรงเวลาทุกครั้ง เพราะการติดแบล็กลิสต์อาจทำให้ธนาคารปฏิเสธการให้กู้บ้านไปโดยสิ้นเชิงได้
4.5 ปิดบัญชีหนี้ให้หมดก่อนยื่นกู้ ภาระหนี้ใดที่สามารถโปะเงินปิดบัญชีให้เรียบร้อยได้ควรทำทันทีก่อนจะยื่นกู้บ้าน แม้ว่าจะเหลือระยะเวลาไม่มาก เช่น ผ่อนค่าโทรศัพท์มือถือแม้ว่าจะเหลืออีกเพียง 3 เดือนจะผ่อนหมด แต่ ณ ช่วงเวลาที่ยื่นกู้บ้าน ธนาคารจะถือว่าเรามีภาระหนี้ส่วนนี้อยู่
4.6 ยกเลิกบัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น ก่อนยื่นกู้บ้านควรจะขอยกเลิกบัตรเครดิตให้เหลือเพียง 1-2 ใบเท่านั้นเพราะหากมีหลายใบ ธนาคารจะมองว่าผู้กู้มีโอกาสสร้างหนี้สูงขึ้นในภายหลังจากบัตรเครดิต ซึ่งจะทำให้โอกาสการอนุมัติสินเชื่อบ้านต่ำลง
4.7 เตรียมเอกสาร สลิปเงินเดือน ใบรับรองการทำงาน หลักฐานรายได้พิเศษ คือ หลักฐานการทำงานและรายได้ต่าง ๆ เช่น สลิปเงินเดือน ใบรับรองการทำงาน ที่เราอาจจะต้องเดินเรื่องขออนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัด และบางหน่วยงานอาจจะใช้เวลานานกว่าจะได้รับอนุมัติ การเตรียมตัวก่อนจึงสำคัญที่จะทำให้การยื่นกู้บ้านเป็นไปอย่างราบรื่น
หากมีฝันที่จะซื้อบ้านจงใช้ความพยายามและความมานะในการทำงานให้เยอะๆ ยิ่งขยันยิ่งสร้างงเงิน ตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้แล้วจงทำให้สำเร็จ แต่สิ่งที่สำคัญคืออย่าละเลยความรับผิดชอบของตนเอง เมื่อเราได้บ้านในฝันมาครองครองแล้ว จงบริหารการเงินให้ดี อย่าให้มีผลกระทบต่อตัวคุณเองและคนในครอบครัว